หรือนี่จะเป็นกาลอวสานของ ‘Silicon Valley’ ?

531 Views  | 

หรือนี่จะเป็นกาลอวสานของ ‘Silicon Valley’ ?

ปี 2022 ถือเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสสำหรับ ‘บิ๊กเทค’ (Big Tech) และบริษัทเทคโนโลยีเท่าไรนัก เพราะต้องเผชิญกับมรสุมที่พัดผ่านเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการอันแสนเศร้าที่บางบริษัทขาดทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ราคาหุ้นที่ร่วงแรงจนแดงทั้งกระดาน รวมถึงการปลดพนักงานจำนวนหลายหมื่นคน
.
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน สำนักข่าวเดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทหลายๆ แห่งในซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) เมตา (Meta) แอมะซอน (Amazon) ปลดพนักงานรวมกันมากกว่า 20,000 คน เพื่อปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง และพร้อมต่อการพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าอย่างปลอดภัย
.
ซึ่งข่าวการปลดพนักงานที่มีมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงตอนนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่ศักยภาพการบริหารของแต่ละบริษัทเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของวงการเทคโนโลยีที่ซบเซาลง และพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างเห็นได้ชัด จนหลายๆ คนเชื่อว่า ‘ฤดูแห่งการผลิบานของบริษัทเทคฯ จบลงแล้ว’
.
ก้าวต่อไปของบริษัทเทคฯ จะเป็นอย่างไร? ความยิ่งใหญ่ของซิลิคอน แวลลีย์จะยังคงอยู่หรือไม่? Future Trends จะชวนทุกคนมาพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน
.
เมื่อพูดถึง ‘เทคโนโลยี’ หลายๆ คนคงนึกถึงความล้ำ การเปลี่ยนโลก และความสะดวกสบายเป็นอันดับแรกๆ แต่เมื่อเชื่อมโยงคำว่า ‘เทคโนโลยี’ เข้ากับบริบททางสังคมและระบบนิเวศ (Ecosystem) แห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ชื่อของ ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ คงผุดขึ้นมาในความคิดด้วย
.
ซิลิคอน แวลลีย์ เป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘หุบเขาแห่งนวัตกรรม’ เพราะมีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นศูนย์กลางแห่งการปั้นสตาร์ตอัป (Startup) ดาวรุ่งให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ซิลิคอน แวลลีย์กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนทำงานด้านเทคโนโลยีหลายๆ คนต้องการไปให้ถึง
.
จุดเริ่มต้นของซิลิคอน แวลลีย์เกิดจากความตั้งใจของ ‘เฟเดอริก เทอร์แมน’ (Frederick Terman) อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่ต้องการผลักดันให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะมีความคิดริเริ่มในการทำธุรกิจ จึงจัดตั้ง Stanford Industrial Park (Stanford Research Park ในปัจจุบัน)
.
ภายใน Stanford Industrial Park มีการปล่อยให้เช่าพื้นที่บางส่วนสำหรับการจัดตั้งบริษัทในราคาย่อมเยา ทำให้บริษัทเทคฯ น้อยใหญ่ในยุคนั้น เช่น เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric หรือ GE) อีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak) แห่แหนกันมาตั้งบริษัทในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และกลายเป็นบริษัทรุ่นแรกที่ตั้งอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ในเวลาต่อมา
.
เมื่อพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยบริษัทเทคฯ ความคิดที่จะสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีให้ครบวงจรจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนา ‘ชิป’ ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์เทคโนโลยีแทบทุกชนิดในพื้นที่แห่งนี้ด้วย ซึ่งชิปที่พัฒนาได้สำเร็จมี ‘ซิลิคอน’ เป็นส่วนประกอบสำคัญ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ นั่นเอง
.
การเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่มีระบบนิเวศครบวงจร ทำให้ซิลิคอน แวลลีย์มีความยิ่งใหญ่ในตัวเอง และเป็นพื้นที่แห่งการปั้นบริษัทเทคฯ ที่โด่งดังมากในปัจจุบัน เช่น แอปเปิล (Apple) กูเกิล (Google) อินเทล (Intel) เป็นต้น
.
แต่ชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของซิลิคอน แวลลีย์ ไม่อาจทำให้บริษัทเทคฯ ระดับโลกเจิดจรัสเป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ที่ผู้บริหารฯ ของแต่ละบริษัทต้องรับมือกับภัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพิษเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาด้านซัพพลายเชน (Supply Chain) และอื่นๆ อีกมากมาย
.
ภัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ ‘เม็ดเงิน’ ที่ไหลเวียนในบริษัทโดยตรงทั้งด้านรายได้และเงินสนับสนุนจากนักลงทุน ยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ผู้คนต้องรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนนักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นรายบริษัท เมื่อเม็ดเงินไหลเข้าบริษัทน้อยลง การลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้การเติบโตของบริษัทเทคฯ พลิกจากความรุ่งเรืองในปี 2021 มาสู่ความซบเซาในปี 2022 ไม่ได้มีแค่ภัยรอบด้านที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การแก้แค้นของเศรษฐกิจยุคเก่า’ (Revenge of the Old Economy) หรือการที่กลุ่มธุรกิจยุคเก่า ทำให้การเติบโตของกลุ่มธุรกิจยุคใหม่อย่างเทคโนโลยีเกิดการชะลอตัวอีกด้วย
.
นอกจากกลุ่มธุรกิจยุคเก่าจะมาในรูปแบบของธุรกิจพลังงาน การเกษตร และค้าปลีก ยังมาในรูปแบบของวิถีชีวิตที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คนส่วนใหญ่มีความต้องการกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม เช่น การทานข้าวที่ร้านอาหาร การซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ทำให้การเติบโตทางรายได้ของบริษัทเทคฯ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตรูปแบบเดิมและความเป็น ‘สัตว์สังคม’ ของมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
.
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ช่วงเวลานี้อาจเป็นเพียง ‘ฤดูหนาว’ อันหนาวเหน็บของวงการเทคฯ เท่านั้น เช่นเดียวกับ ‘ฟองสบู่ดอตคอม’ (Dot-com Bubble) ที่เกิดขึ้นปลายยุค 90
.
เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับความเชื่อในการเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจพากันสร้างเว็บไซต์ที่ต่อท้ายชื่อด้วย ‘.com’ ผู้คนพากันลงทุนและเก็งกำไรในหุ้นเทคโนโลยีตลอดเวลา แต่โชคร้ายที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และมีบริษัทมากมายที่ต้องลาจากโลกธุรกิจไปตลอดกาล
.
ถึงแม้ฟองสบู่ดอตคอมจะสร้างความเสียหายให้กับวงการเทคฯ อย่างหนัก และลักษณะของเหตุการณ์ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัฏจักรเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเดินทางมาถึง วงการเทคฯ จะหลุดพ้นจากฤดูหนาว และค่อยๆ ฟื้นตัวจนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เช่นเดียวกับช่วงปี 2005-2010 ที่เริ่มมีบริษัทเทคฯ หน้าใหม่เข้ามาสู่โลกธุรกิจมากขึ้น
.
ตอนนี้ เส้นทางของบริษัทเทคฯ ไม่ได้สวยงามเท่าไรนัก และไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นเดียวกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพิสูจน์ว่า ธุรกิจเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ฉาบฉวย และมาแรงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
.
แล้วทุกคนคิดว่า นี่คือสัญญาณส่อเค้ากาลอวสานของบริษัทเทคฯ และซิลิคอน แวลลีย์หรือเปล่า? ลองแชร์ความเห็นของคุณให้เราและเพื่อนๆ ได้อ่านกัน!

​​เขียนโดย Witchayaporn Wongsa
Sources: http://bit.ly/3Gsy3gm
.
http://bit.ly/3XcmzmX
.
http://bit.ly/3Of0f8c
.
http://bit.ly/3Ar51db
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥

หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'

◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy