จากเด็กโรงเรียนนานาชาติขี้อายสู่งานเงินเดือนหลักแสนในบริษัทระดับต้นๆ ของสหรัฐ แต่ทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทย

1087 Views  | 

จากเด็กโรงเรียนนานาชาติขี้อายสู่งานเงินเดือนหลักแสนในบริษัทระดับต้นๆ ของสหรัฐ แต่ทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทย

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘พี่เอิร์น’ อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้ง Ricult สตาร์ทอัปเพื่อการเกษตร และผู้ที่มี ‘การโดนปฏิเสธ’ เป็นหนึ่งในครูที่ดีที่สุดในชีวิต
.
อะไรคือจุดพลิกผันที่ทำให้เขาอยากลุกมาทำเพื่อสังคม? เส้นทางที่เขาวาดฝันเกิดขึ้นได้อย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่
.
.
#ความฝันในวัยเด็กคืออะไร
.
พี่เอิร์นเล่าว่าตอนเด็กๆ ไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากเป็นอะไร รู้เพียงว่าตัวเองเรียนวิชาสายวิทย์คณิตได้ดี และเมื่อพ่อแม่เห็นว่าพี่เอิร์นเก่งเลข พวกเขาเลยอยากให้เข้าเรียนวิศวะ ซึ่งประจวบกับช่วงนั้น Tech กำลังบูม พี่เอิร์นจึงเลือกเรียนวิศวะคอมที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
.
พี่เอิร์นคิดมาตลอดว่าหากจะเข้าวิศวะ เราก็เก่งเพียงวิชาวิทย์คณิตก็พอ และสามารถทิ้งวิชาสายศิลป์ทั้งหมดได้ แต่การมาอเมริกาทำให้พี่เอิร์นได้ค้นพบว่าคนอเมริกันที่เก่งๆ มักจะเก่งรอบด้าน และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่เอิร์นกลับมาพัฒนาทักษะทางสายศิลป์ของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านการอ่านหรือการเขียน จนทำให้ตอนนี้พี่เอิร์นมีความสนใจในประวัติศาสตร์การเมือง และเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก
.
.
#จากวิศะวะคอมสู่สายงานConsult
.
หลังจากจบจากคณะวิศะวะคอม พี่เอิร์นได้มุ่งหน้าเข้าทำงานเป็น Software Engineer ที่ Cisco บริษัท Tech ชื่อดังของอเมริกาใน Silicon Valley
.
แม้จะใช้ชีวิตอยู่กับ Tech มาโดยตลอด แต่พี่เอิร์นกลับไม่ได้รู้สึกคลิกกับงานขนาดนั้น เพราะโดยส่วนตัวเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบพูดคุยกับคน ในขณะที่งานซอฟแวร์คือการนั่งเขียนโปรแกรมอยู่คนเดียว พี่เอิร์นจึงตัดสินใจลาออก และเดินหน้าสู่งานสาย Consult
.
พี่เอิร์นได้เข้าทำงานที่ Accenture บริษัท Consult ตามที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้มันจะเป็นงานที่พี่เอิร์นใฝ่ฝัน แต่ก็มีหนึ่งปัญหาหลักที่พี่เอิร์นต้องเผชิญ คือ การพูดภาษาอังกฤษ
.
แม้พี่เอิร์นจะใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี แต่เนื่องจากเป็นคนขี้อาย จึงไม่กล้าพูดคุยกับต่างชาติเท่าไหร่ ทำให้พี่เอิร์นพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่อง แต่เมื่องาน Consult ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสารเทียบเท่ากับฝรั่ง พี่เอิร์นจึงลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองโดยการท่องศัพท์ ฝึกพูด และฝึกฝนให้ตัวเองกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น พี่เอิร์นใช้เวลาอยู่ 2 ปีกว่าจนรู้สึกมั่นใจกับการนำเสนองานต่อหน้าผู้บริหารระดับสูง
.
.
#โดนปฏิเสธมากว่าห้าสิบครั้ง
.
ถ้าบอกว่าการทำงานใน Accenture ของพี่เอิร์นนั้นท้าทายแล้ว เส้นทางการสมัครงานของพี่เอิร์นนั้นหินยิ่งกว่า เพราะกว่าพี่เอิร์นจะได้รับคัดเลือกเข้าทำงานที่ Accenture พี่เอิร์นถูกปฏิเสธจากบริษัทอื่นๆ มาไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท
.
อย่างไรก็ตาม การถูกปฏิเสธมานับห้าสิบครั้งไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของพี่เอิร์นลดลงแม้แต่น้อย เพราะการถูกปฏิเสธแต่ละครั้งทำให้พี่เอิร์นได้กลับมาทบทวนตัวเอง และพยายามมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้พี่เอิร์นถือการถูกปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในครูที่ดีที่สุดในชีวิต
.
.
#ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนหลักแสน
.
แม้ชีวิตของการได้เงินเดือนหลักแสนบาทที่ Accenture ได้นอนโรงแรม 5 ดาว ได้พบปะกับคนใหญ่คนโตนั้นจะฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อพี่เอิร์นทำงานผ่านไปได้ 3 ปีกว่า ก็รู้สึกว่าไฟในตัวเริ่มมอดลง
.
วันหนึ่งพี่เอิร์นตั้งคำถามกับตัวเองว่า การทำงานให้คนที่รวยอยู่แล้วรวยมากขึ้นไปอีกคือสิ่งที่ตัวเองจะทำไปตลอดชีวิตหรอ นั่นคือเป้าหมายในชีวิตของตัวเองหรือเปล่า คำตอบที่พี่เอิร์นได้กลับมาคือ “ไม่ใช่”
.
สิ่งที่พี่เอิร์นอยากทำจริงๆ คือ การสร้างธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยเฉพาะสังคมไทย และในช่วงนั้นเทรนด์สตาร์ทอัปเพื่อสังคมและ Social Enterprise ในอเมริกากำลังมาแรง พี่เอิร์นจึงเลือก ‘ลาออก’ จากงานสาย Consult เงินเดือนหลักแสน เพื่อเข้าเรียน Dual Degree ในด้านวิศวะ และการบริหารที่ MIT
.
MIT เป็นมหาวิทยาลัยในฝันของเด็กวิศวะหลายคนรวมถึงตัวพี่เอิร์นเองด้วย และ MIT ก็จัดอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลกในด้านการบริหารธุรกิจ ทั้งยังมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงโลก พี่เอิร์นจึงคิดว่ามหาวิทยาลัยนี้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
.
.
#เส้นทางนี้คุ้มค่าจริงไหม
.
แน่นอนว่าการลาออกจากงานประจำที่มีความมั่นคงสูงเพื่อมาเรียนต่อพร้อมกับฝันที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนั้น นับเป็นการกระทำที่ค่อนข้างเสี่ยง
.
แต่สำหรับพี่เอิร์นแล้ว การกระทำนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงที่สูงมากขนาดนั้น เพราะพี่เอิร์นแพลนไว้แล้วว่าหากเรียนที่ MIT พร้อมกับการเป็น Entrepreneur ของตัวเองไม่สำเร็จ พี่เอิร์นยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากตรงนั้นมาประยุกต์ใช้กับงานบริษัทได้ และหากจะกลับเมืองไทย พี่เอิร์นมองแล้วว่าการสมัครงานในเมืองไทยตอนช่วงอายุ 30 ต้นๆ นั้นยังเป็นไปได้อยู่
.
เมื่อพี่เอิร์นมีแผนสำรองไว้เรียบร้อย จึงเลือกที่จะมุ่งหน้ากับความฝันการเป็น Entrepreneur ดูสักครั้ง
.
.
#จุดเริ่มต้นRicult
.
พี่เอิร์นเล่าว่า Ricult เกิดจากการที่ที่บ้านของพี่เอิร์นมีธุรกิจการเกษตรอยู่แล้วที่ต่างจังหวัด ทำให้ตัวเองได้คลุกคลีกับเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวพี่เอิร์นอาจโชคดีกว่าครอบครัวอื่นๆ ที่สามารถส่งพี่เอิร์นไปเรียนถึงสหรัฐอเมริกาได้ในขณะที่ลูกหลานเกษตรกรหลายๆ คนที่โตมากับพี่เอิร์นไม่ได้มีโอกาสตรงนี้
.
พี่เอิร์นได้เล็งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และโอกาสในชีวิตที่แตกต่างกัน จึงเริ่มคิดว่าจะทำยังไงให้โอกาสที่ตัวเองได้รับมาไม่สูญเปล่า
.
เนื่องจากพี่เอิร์นโตมากับการเรียนวิศวะ พี่เอิร์นมองว่าหากตัวเองสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้ก็คงจะดี อย่างไรก็ดี หากโฟกัสเพียงการช่วยเหลือสังคม บริษัทก็จะกลายเป็น NGO พี่เอิร์นจึงเริ่มมองหาลู่ทางด้านธุรกิจเพื่อพัฒนาบริษัทนี้ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise
.
ในช่วงที่พี่เอิร์นเข้าเรียนที่ MIT พี่เอิร์นได้ลงเรียนวิชา Entrepreneurship และได้มีโอกาสพิทช์ไอเดียการเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาการเกษตรไทย ซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องชาวปากีสถานคนหนึ่งพิทช์ไอเดียที่คล้ายคลึงกันมาก ทำให้ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้ง Ricult ขึ้นมา
.
จุดประสงค์หลักของ Ricult คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสถาบันการเงิน และประกันภัยในราคาที่ถูกลง และไม่โดนเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
.
.
#เส้นทางการโดนสบประมาท
.
ก่อนจะมาเป็น Ricult ที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลจากการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคมมากมาย พี่เอิร์นได้ผ่านเส้นทางการโดนสบประมาท และความผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน
.
พี่เอิร์นเล่าว่าในช่วงแรก คนรอบตัวมักพูดว่า เป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะมาใช้เทคโนโลยี และเป็นไปไม่ได้ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตร แต่พี่เอิร์นเลือกที่จะเดินหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และในวันนี้ พี่เอิร์นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ใช้ Ricult มากกว่า 300,000 คน
.
นอกจากนี้ พี่เอิร์นได้แชร์ว่า กว่า Ricult จะสามารถระดมทุนได้สำเร็จ 1 ครั้ง ก็โดนปฏิเสธมามากกว่า 50 ครั้ง และกว่าจะได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 1 เวที ก็ตกรอบมามากกว่า 30 เวที
.
แม้ชัยชนะไม่ได้เป็นของพี่เอิร์นทุกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่พี่เอิร์นทำอยู่ตลอดคือการขอฟีดแบคจากนักลงทุน และจากคณะกรรมการที่ปฏิเสธ Ricult เพื่อนำฟีดแบคเหล่านั้นมาพัฒนาตัวธุรกิจและตัวเอง พร้อมมองหานักลงทุนรายใหม่และเวทีใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
.
.
#หัวใจขององค์กรคืออะไร
.
พี่เอิร์นนิยามสไตล์การเป็นผู้นำในฐานะ CEO ของ Ricult ว่าตัวเองจะเป็นคนคอยกำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของบริษัท สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน ช่วยสนับสนุนทีมงานทุกคนให้ไปถึงเป้าหมายนั้น พร้อมกับการดึงศักยภาพของทีมงานออกมาให้ได้มากที่สุด
.
นอกจากนี้ พี่เอิร์นเล่าว่า Core Value ที่สำคัญที่สุดของ Ricult คือ ‘ความซื่อตรง’ เพราะงานที่พี่เอิร์นทำถือเป็นงานที่ช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง และจะไม่มีการกดขี่เกษตรกรเพื่อหวังผลกำไรแม้บริษัทจะเติบโตแล้วก็ตาม โดยพี่เอิร์นจะแจ้งนักลงทุนไว้แต่แรกเริ่มถึงค่านิยม และวิสัยทัศน์ของบริษัท ซึ่งหากนักลงทุนรายไหนมีวิสัยทัศน์หวังผลกำไร พี่เอิร์นก็จะปฏิเสธทันที
.
.
#ความสำเร็จในวันนี้ของRicult
.
เรื่องที่พี่เอิร์นนับว่าเป็นทั้งความประทับใจ และความสำเร็จจากการทำ Ricult คือ เมื่อพี่เอิร์นต้องการรับฟังฟีดแบคจากเกษตรกรที่อยู่ในระบบ Ricult ทุกคนต่างยินดี และเต็มใจที่จะมาให้ข้อมูลกับพี่เอิร์นเสมอ อีกทั้งยังต้อนรับพี่เอิร์นเป็นอย่างดีโดยการเลี้ยงอาหารพี่เอิร์นอยู่บ่อยครั้ง
.
เกษตรกรรายหนึ่งเล่าให้พี่เอิร์นฟังว่า Ricult ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถส่งลูกไปโรงเรียนได้ ทั้งยังได้แนะนำ Ricult ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย พี่เอิร์นจึงรู้สึกว่าตัวเองได้ทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ และเป็นความสุขที่ทำให้อยากลุกไปทำงานในทุกๆ วัน
.
สำหรับการระดมทุน จากวันที่พี่เอิร์นเจอแต่นักลงทุนปฏิเสธ Ricult วันนี้ Ricult สามารถระดมทุนได้
สูงถึง 150 ล้านบาทแล้ว และล่าสุด Ricult ยังได้รับเงินลงทุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation, Obama Foundation และ Impact Investor จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกด้วย
.
.
#เป้าหมายต่อไป
.
สำหรับ Ricult พี่เอิร์นตั้งเป้าไว้ว่าอยากช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ถึง 1 ล้านคนภายในปีหน้า และอยากขยายตลาดไปช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย เพราะไม่อยากเป็นเพียง Social Enterprise ในประเทศไทย ทั้งยังวางแผนอยากพัฒนา Ricult ให้เป็น Super App ที่สามารถช่วยเหลือคนต่างจังหวัดได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ประกันภัย และการศึกษา เพราะพี่เอิร์นมีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงๆ
.
สำหรับตัวพี่เอิร์นเอง พี่เอิร์นอยากทำอะไรที่ช่วยเหลือประเทศได้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม (Impact Investing) หรือ การออกแบบนโยบายเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ หรือ การเป็นอาจารย์สอนเรื่องสตาร์ทอัปและ Social Enterprise เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังอยากเปิดโครงการสนับสนุน Social Enterprise เพื่อเทรนคนรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างธุรกิจเพื่อสังคม เพราะพี่เอิร์นมองว่าหากตัวเองสามารถช่วยพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมมาได้อีกสัก 50-100 ธุรกิจ ก็จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศได้อีกมาก
.
.
#แนวคิดการใช้ชีวิตของนายอุกฤษ
.
หลักหนึ่งที่พี่เอิร์นใช้ในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอดคือ Happiness = Reality / Expectation หรือความสุขของคนเรานั้นเกิดจากการนำความเป็นจริงมาหารด้วยความคาดหวัง โดยพี่เอิร์นจะเป็นคนที่ไม่ตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไป เพราะพี่เอิร์นรู้สึกว่าการคาดหวังสูงเกินไปจะส่งผลให้ปริมาณความสุขลดลง แต่ทั้งนี้เราก็ต้องทำทุกอย่างให้เต็มที่ และก็ไม่ใช่ว่าไม่คาดหวังจนไม่มีเป้าหมายในชีวิต
.
พี่เอิร์นได้นำหลักการนี้มาปรับใช้ในชีวิตโดยเมื่อพี่เอิร์นได้เข้าเรียนที่ MIT พี่เอิร์นรู้ตัวว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด ดังนั้นพี่เอิร์นจึงปรับความคาดหวังให้สมเหตุสมผล และวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ และสำหรับตอนช่วงที่ก่อตั้ง Ricult พี่เอิร์นยอมรับว่าคาดหวังอยากให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังต้องเผื่อใจไว้ และหากธุรกิจนี้ล้มเหลว พี่เอิร์นก็จะมีแผนสำรองเตรียมไว้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับชีวิต
.
.
“เพราะในชีวิตคนเรายังมีอีกหลายสิ่งที่เรานั้นควบคุมไม่ได้ การตั้งเป้าหมาย และความคาดหวังอย่างสมเหตุสมผลจะช่วยให้มันไม่กลับมาทำร้ายตัวเราเองมากเกินไป” พี่เอิร์นกล่าวทิ้งท้าย
.
.
#careerfact
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว

Blockdit - https://bit.ly/CareerFactBD

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy