เส้นทาง 60 ปี มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย จากผู้จำหน่ายรถสามล้อ สู่บริษัทส่งออกรถยนต์ อันดับหนึ่งเมืองไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย X ลงทุนแมน

897 Views  | 

เส้นทาง 60 ปี มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย จากผู้จำหน่ายรถสามล้อ สู่บริษัทส่งออกรถยนต์ อันดับหนึ่งเมืองไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย X ลงทุนแมน

คนไทยรู้จักรถคันแรกของค่าย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย คือรถสามล้อรุ่น ลีโอ
ที่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจมีพนักงาน 100 กว่าคน และผลิตรถได้แค่ 59 คันต่อปี

เวลาผ่านมา 60 ปี มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีพนักงานกว่า 6,200 คน ส่วนรถรุ่นล่าสุด
คือ “มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี” รถที่ใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน
อีกทั้งรถรุ่นนี้ สามารถแบ่งปันพลังงานไฟฟ้าไปใช้ในที่พักอาศัยได้อีก
ถือเป็นมาตรฐานใหม่ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรา เลยทีเดียว

ที่น่าทึ่งกว่านั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย
ยังเป็นฐานการผลิตส่งออกรถยนต์เกือบๆ 3 แสนคันต่อปี ไปยังกว่า 120 ประเทศทั่วโลก

ใครจะคิดว่าจากผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กๆ มีพนักงานแค่ 100 กว่าคน
มาวันนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กลายเป็นบริษัทที่ยืนอยู่ในแถวหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย

อะไรที่ทำให้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เดินทางมาไกลถึงเพียงนี้
แล้วจากวันแรกของธุรกิจจนถึงวันนี้ที่บริษัทมีอายุครบ 60 ปี

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเราและเศรษฐกิจประเทศไทย อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

รู้หรือไม่? ก่อนที่จะเป็น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่เรารู้จักในวันนี้
มีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดตั้ง บริษัท สิทธิผล มอเตอร์ จำกัด ในปี 2504 โดยมีคุณกนก ลี้อิสระนุกุล เป็นเจ้าของ
เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิในประเทศไทย นำเข้ารถมา 2 รุ่น คือรถสามล้อรุ่น ลีโอ และรถยนต์รุ่น โคล์ท
ปรากฏว่า รถสองรุ่นนี้ขายดี เพราะเวลานั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่สดใหม่ในท้องถนนเมืองไทย

ด้วยความสำเร็จนี้ เลยทำให้อีก 3 ปีต่อมา มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย ในชื่อบริษัท สหพัฒนายานยนต์ จำกัด หรือ UDMI

จนมาถึง“จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” ในปี พ.ศ. 2508 เมื่อ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น
ได้เข้าถือหุ้น 48% ในบริษัท สหพัฒนายานยนต์ จำกัด ทำให้บริษัทมีเงินทุนเพิ่มขึ้น
จนถึงได้รับถ่ายทอดความรู้ในการผลิตรถยนต์ที่ล้ำสมัย ทำให้ในเวลานั้นบนท้องถนนเมืองไทย
มีรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงให้คนไทยได้สัมผัส

เช่น มิตซูบิชิ กาแลนท์, รถกระบะ มิตซูบิชิ แอล 200 ( เป็นต้นกำเนิดของมิตซูบิชิ ไทรทัน)
และ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ แชมป์ ที่เวลานั้นเป็นรถที่มียอดขายสูงสุดในตลาดรถเล็ก

จนมาถึงในปี พ.ศ. 2530 ก็เกิดการควบรวมกิจการ 2 บริษัทเข้าด้วยกัน
พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิพล จำกัด เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพคล่องตัวกว่าเดิม
และ ปีถัดมา บริษัทสร้างปรากฏการณ์เป็นผู้ผลิตรถยนต์จากฝีมือคนไทยรายแรกที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยรถรุ่นนั้นคือ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ แชมป์

จากนั้นทั้งยอดขายและยอดส่งออกรถยนต์ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ทางบริษัทตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แบบครบวงจรที่ นิคมอุตสาหกรรม แหลมฉบัง
ต่อมาอีกไม่นานนักก็สร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรม ลาดกระบัง

จนมาถึงปี พ.ศ. 2546 ก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
และอีก 9 ปีต่อมาก็ลงทุนสร้างโรงงานแห่งที่ 3
เพื่อผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานขายทั้งในประเทศและส่งออก

จากโรงงานเล็กๆ มีกำลังการผลิตรถไม่ถึง 100 คัน เมื่อมีโรงงานขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง
กำลังการผลิตก็เติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง
โดย ปัจจุบัน มีกำลังผลิตรถยนต์สูงสุด 424,000 คัน/ปี

ก็เลยเป็นที่มาให้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มียอดส่งออกรถยนต์สะสม ตั้งแต่ปี 2531 - 2562 รวมกันมากกว่า 4 ล้านคัน
ขึ้นแท่นเป็นบริษัทผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปี 2561 และ 2562 รวม 2 ปี ติดต่อกัน

ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน
บริษัทแห่งนี้ลงทุนรวมกันทั้งหมดในประเทศไทยไปแล้วกว่า 82,000 ล้านบาท
พร้อมกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถมายังโรงงานในไทย อย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังมีการลงทุนสร้างสนามทดสอบขนาดใหญ่บนพื้นที่ 95 ไร่ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยใช้มาตรฐานเดียวกับสนามทดสอบที่เมืองโอกาซากิในญี่ปุ่น
เป้าหมายเพื่อทดสอบรถทุกรุ่นให้มั่นใจในคุณภาพ ก่อนที่จะผลิตออกสู่ตลาด

เรื่องเหล่านี้ หากมองผิวเผินก็เป็นความสำเร็จของบริษัทแห่งนี้
ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเราหรือระบบเศรษฐกิจ

แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกันโดยตรง
รู้หรือไม่...ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้จ้างพนักงานกว่า 6,200 คน
มีการส่งออกรถยนต์เกือบ 3 แสนคัน ตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง
ที่ช่วยทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

ขณะเดียวกันตลอดเวลาที่ผ่านมาค่ายรถแห่งนี้ ได้สร้างนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ
ให้เราได้สัมผัสตลอดเวลาอย่างล่าสุดก็คือ “มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี”
รถปลั๊กอินไฮบริด ที่ช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม
หรือการสร้างโรงงานพ่นสีที่ลดการปล่อย VOCs ทำให้อากาศบริสุทธิ์

และในเร็วๆ นี้ จะมีการใช้พลังงานโซลาร์ในกระบวนการผลิตที่โรงงานแห่งที่ 3 และมีแผนขยายต่อไปยัง โรงงานพ่นสีรถยนต์แห่งใหม่
และในส่วนอาคารสำนักงานใหม่ที่แหลมฉบัง

ที่น่าสนใจบริษัทแห่งนี้ก็รู้ดีว่า การเติบโตทางธุรกิจ จะไม่มีคุณค่าอะไรเลย
หากสังคมและคุณภาพชีวิตคนไทย ไม่ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท

พอมีความคิดแบบนี้ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย
ระดมทุกอย่างที่มีอยู่ในมือเพื่อให้สังคมและชีวิตความเป็นอยู่คนไทยดีขึ้น
เช่น การระดมเงินทุนช่วยสร้างอาคารโรงพยาบาล, มอบทุนการศึกษา
หรือในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมก็มีการมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย 12 ล้านบาท
โดยล่าสุด ก่อตั้ง มูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่ค่อยช่วยเหลือพัฒนาสังคมไทยแบบระยะยาว

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าเส้นทาง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อ
จากบริษัทเล็กๆ จนวันนี้กลายเป็นค่ายผู้ผลิตรถยนต์แถวหน้าของเมืองไทย

แล้วความสำเร็จนี้มาจากอะไร ?
เรื่องนี้เราอาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้
ที่ผู้ก่อตั้งมีแนวคิดว่าการผลิตรถยนต์ 1 คัน ต้องใส่ใจทุกรายละเอียดทั้งคุณภาพและดีไซน์
ที่สำคัญ ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

แล้วใครจะคิดว่าแนวคิดนี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว
จะทำให้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เติบโตอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้….

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy