244 Views |
สื่อดังชี้ ไทย เป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชีย คาดขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ และดึง Tesla จากจีนได้ นักวิเคราะห์ชี้ไทยมีเป้าหมายระดับโลก และมีศักยภาพพร้อม
ไทย อาจได้เป็นประเทศผู้ผลิตแห่งใหม่ของ เทสลา (Tesla) และเป็นตัวเลือกที่นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ได้พิจารณามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดย Tesla กำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการ ตั้งแต่ยอดขายที่ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ การเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้ Tesla ต้องการกระจายความเสี่ยงจากจีน และลดการพึ่งพายุโรปกับสหรัฐ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า Tesla มีแนวโน้มว่าจะให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียที่กว้างใหญ่มากกว่าจีนเพียงประเทศเดียว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดก็ตาม และนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าไทยกำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด ในฐานะเมืองหลวงแห่งรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์พลังงานใหม่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากและรวดเร็ว
ไทยคือดีทรอยต์แห่งเอเชีย
ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะ “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” มาเป็นระยะเวลานานหลายปี โดยดีทรอยต์คือเมืองเอกในรัฐมิชิแกนของสหรัฐ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ โดยไทยได้รับสมญานามดังกล่าวเนื่องจากแรงงานที่มีทักษะและความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติให้เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ และอาจเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับจีน ซึ่งความสามารถนี้สามารถช่วยให้ Tesla ลดการพึ่งพาจีนลงได้ และด้วยการที่มีฐานการผลิตในไทย จะทำให้ Tesla ขยายไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยตรง รวมถึงตลาดอื่น ๆ ด้วย
นายเคร็ก เออร์วิน นักวิเคราะห์อาวุโสของรอธ แคปิตอล (Roth Capital) ไทยคือเส้นทางที่สามารถมอบผลประโยชน์ที่คล้ายคลึงกับจีนในแง่ของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้นทุนต่ำ และไทยมีวิธีการรักษาการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานแบบเดียวกับที่โรงงาน Tesla ในเซี่ยงไฮ้ แต่แตกต่างกันตรงที่ไม่มีการควบคุมจากรัฐบาลจีน และการเปลี่ยนแปลงมายังไทยเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เนื่องจากคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกกฎซึ่งปรับลดเงินลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนผลิตจากจีนลงอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลไทยเสนอเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเพื่องดึงดูดบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติให้เข้ามาผลิตในไทย
ด้านนายเซ็ธ โกลด์สตีน นักกลยุทธ์ด้านหลักทรัพย์ของมอร์นิงสตาร์ (Morningstar) กล่าวว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยอาจไม่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุนจากกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) แต่จะไม่ต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรในระดับสูง ซึ่งเรียกเก็บจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน และตลาดกังวลว่านายไบเดนอาจเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นเมื่อใดก็ได้ และจะยิ่งสูงกว่านั้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง
นอกจากนี้แล้ว การแข่งขันที่ดุเดือดระหว่าง Tesla กับแบรนด์รถไฟฟ้าของจีน อาจทำให้จีนกีดกันไม่ให้ Tesla เข้าถึงชิ้นส่วนราคาถูกได้ ซึ่งหากไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแล้วละก็ ข้อกังวลจากผลกระทบดังกล่าวก็จะบรรเทาลง
ไทยคือประเทศที่มีศักยภาพ
นายสตีเวน ไดเยอร์ อดีตผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการของฟอร์ด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาที่ อลิกซ์พาร์ทเนอร์ส (AlixPartners) กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพที่จะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตรถยนต์ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แรงงานที่มีทักษะ และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ต้องพิจารณาคืออุปสงค์ในตลาดท้องถิ่น และหลักการ “ขายในที่ที่ผลิต” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและภาษีศุลกากร รวมถึงลดความเสี่ยงจากค่าเงินอีกด้วย
ตลาดรถยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโต และไทยเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกตั้งแต่ โตโยต้า (Toyota) ฮอนด้า (Honda) นิสสัน (Nissan) ฟอร์ด (Ford) จีเอ็ม (GM) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ต่างมีสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในไทย ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของไทยในอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนี้แล้ว การค้นพบแหล่งทรัพยากรแร่ลิเธียมเกือบ 15 ล้านตันในไทย นับเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเทศในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และอาจทำให้ไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเอเชีย ในด้านการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ไทยมีเป้าหมายไปสู่ระดับแถวหน้าของโลก
ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางแห่งหลักระดับโลกในด้านการผลิตรถยนต์ โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่ารัฐบาลไทยเสนอการลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% และอัตราภาษีสรรพสามิตลง 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่นำเข้าในปี 2567 และ 2568 พร้อมเสริมว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเริ่มต้นได้ภายในปี 2570 โดยไทยตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ซึ่งคิดเป็นรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ซึ่งไทยเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่สำคัญ ทั้งในด้านการผลิตและอุปสงค์จากผู้บริโภค
นายถู เล่อ ผู้ก่อตั้งซิโน ออโต้ อินไซท์ส (Sino Auto Insights) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในปักกิ่ง กล่าวว่า ด้วยความที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างต้องการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มาตั้งโรงงานในประเทศของตน ไทยจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและชาญฉลาด แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความโดดเด่นในด้านประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่าชาติอื่นในอาเซียน และบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รวมถึงฮอนด้าและโตโยต้า ได้ทุ่มเม็ดเงิน 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์ในไทยมาแล้ว
อ้างอิง : cnbc.com