ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

785 Views  | 


ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

“แร่หายาก” (Rare Earth) กลายเป็นทรัพยากรที่ได้รับความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางยอดใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชิปในรถ EV ไปจนถึงอาวุธสงคราม จึงน่าสนใจว่า แร่หายากในปัจจุบันมีกี่ชนิด และสำคัญต่อชีวิตประจำวันพวกเราอย่างไรบ้าง
.
ในปัจจุบัน ชีวิตประจำวันมนุษย์กำลังเปลี่ยนไปทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารทางออนไลน์แทนหน้าหนังสือพิมพ์ การชำระเงินผ่านการสแกนแทนเงินสด หรือแม้แต่การออกแบบบ้าน วาดรูปก็ใช้ระบบดิจิทัลจากคอมเข้ามาช่วย สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความต้องการชิปที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
.
ในการผลิตชิป วัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “แร่หายาก” หรือ “Rare Earth” นั่นเอง
.
นอกจากเป็นวัตถุดิบผลิตชิปแล้ว แร่หายากยังถูกใช้ทำแม่เหล็กแบบถาวร (Permanent Magnet) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ในกังหันลม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ฮาร์ดไดรฟ์ ลำโพง หูฟัง คอมพิวเตอร์ อากาศยาน จอพลาสมา เลเซอร์ เซ็นเซอร์ หุ่นยนต์ ดาวเทียมไปจนถึงยุทโธปกรณ์ทางทหารอย่างเรดาร์ ขีปนาวุธ เครื่องบินรบ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น
.
เครื่องบินขับไล่สหรัฐ F35 ต้องใช้แร่หายากมากถึง 417 กิโลกรัม
.
เรือพิฆาตสหรัฐชั้น Arleigh Burke (Arleigh Burke-class destroyer) ใช้แร่หายากมากกว่า 2 ตัน
.
เรือดำน้ำสหรัฐ ชั้น Virginia ( US Virginia-class submarine) ใช้แร่หายากราว 4 ตัน
.
ดังนั้น จากความสำคัญแร่หายากเหล่านี้ ยิ่งสังคมเปลี่ยนเป็นดิจิทัล และหันมาใช้พลังงานสะอาดจากกังหันลม รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ความต้องการแร่หายากพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
.
​แร่หายากมีอะไรบ้าง และทำไมถึงหายาก
.
แร่หายาก ประกอบด้วยแร่ 17 ชนิด ได้แก่ สแกนเดียม (Sc) อิตเทรียม ( Y ) และกลุ่มธาตุแลนทาไนด์อีก 15 ตัว ได้แก่ แลนทานัม (La) ซีเรียม (Ce) เพรซีโอดิเมียม (Pr) นีโอดิเมียม (Nd) โพรมีเทียม (Pm) ซาแมเรียม (Sm) ยูโรเพียม (Eu) แกโดลิเนียม (Gd) เทอร์เบียม (Tb) ดิสโพรเซียม (Dy) โฮลเมียม (Ho) เออร์เบียม (Er) ทูเลียม (Tm) อิตเทอร์เบียม (Yb) และลูทีเชียม (Lu)
.
จริง ๆ แล้ว แร่หายากอย่างทูเลียม มีจำนวนมากกว่าทองคำในเปลือกโลก 125 เท่า และซีเรียมมีมากกว่าทอง 15,000 เท่า แต่ที่ได้ชื่อว่าหายาก เพราะในขณะที่ทองคำ “อยู่เป็นกลุ่มก้อน” แหล่งพบจะอุดมไปด้วยทองคำ
.
แต่แร่หายากกลับ “อยู่กระจัดกระจายอย่างละเล็กน้อยทั่วโลก” แหล่งพบต้องใช้กำลังอย่างมากในการแยกแร่นี้ออกจากสิ่งเจือปนอื่น ๆ และขุดได้ปริมาณน้อย
.
จึงทำให้แร่เหล่านี้หายากและมีราคาแพง จากข้อมูลบนเว็บไซต์บริษัท TRADIUM Gmbh ซื้อขายแร่หายาก ระบุว่า นีโอดิเมียมมีราคา 174.8 ดอลลาร์หรือราว 6,000 บาท/กก.
.
ดิสโพรเซียม ราคา 543.70 ดอลลาร์หรือราว 18,500 บาท/กก.
เทอร์เบียม ราคา 3,110.80 ดอลลาร์หรือราว 1 แสนบาท/กก.
.
ยิ่งไปกว่านั้น การสกัดแร่หายาก ยังก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา หลายประเทศจึงเลือกที่จะนำเข้าแร่หายากนี้จากประเทศอื่นแทน ซึ่งประเทศที่ครองส่วนแบ่งการผลิตแร่หายากและพบแหล่งแร่นี้มากที่สุดในโลก ก็คือ “จีน”
.
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่: https://www.bangkokbiznews.com/business/1060034?anm=
.
กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี
.
.
#แร่หายาก #ชิป #EV #กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ #กรุงเทพธุรกิจBusiness #กรุงเทพธุรกิจInfo
-------------------------------
ติดตาม "กรุงเทพธุรกิจ" ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: http://www.bangkokbiznews.com
Twitter: https://twitter.com/ktnewsonline
OpenChat: https://bit.ly/3ZgoMib
Youtube: https://www.youtube.com/user/KrungthepTurakij
Blockdit: https://www.blockdit.com/bangkokbiznews
Instagram: https://www.instagram.com/bangkokbiznews
Tiktok: https://www.tiktok.com/@bangkokbiznews
Line: https://line.me/R/ti/p/%40rvb8351i 

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy