663 Views |
ถ้าจะพูดถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงที่สุดในปีนี้ คงจะไม่ใช่ใครที่ไหนถ้าไม่ใช่ BYD แบรนด์ EV จากจีนที่ยอดขาย 9 เดือนที่ผ่านมาขึ้นอันดับ 1 ของโลกแซง Tesla ไปแล้ว
.
แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ สินค้าหลักของ BYD ไม่ใช่รถยนต์ แต่กลับเป็นแบตเตอรี่มือถือต่างหาก แล้ว BYD เข้าสู่วงการรถยนต์จนก้าวเป็นผู้นำ EV ระดับโลกได้อย่างไร TODAY Bizview ชวนติดตามไปด้วยกัน
.
[ จากลูกเกษตรกรยากจน สู่นักเคมี ]
.
BYD ก่อตั้งขึ้นโดย Wang Chuanfu (เกิดในปี 1965) ชายชาวจีนผู้เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ช่วงวัยมัธยม พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ทำให้เขาอยู่ในความดูแลของพี่ชายและพี่สาว
.
การจากไปของพ่อแม่นี้เองที่ทำให้ชีวิตของเขายากลำบากกว่าเดิม ต้องขอยืมเงินเพื่อนบ้านมาเป็นทุนเรียนหนังสือ และความยากลำบากนี้เองที่ทำให้เขามุ่งมั่นกับการเรียนอย่างมาก
.
หลังจบมัธยมปลาย Wang Chuanfu เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Central South ในสาขาเคมีและวัสดุศาสตร์ ก่อนจะจบปริญญาโทจาก Beijing Non-Ferrous Research Institute
.
หลังจากนั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เขาก็ได้ทำงานเป็นนักวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ General Research Institute for Nonferrous Metals ซึ่งเป็นห้องแล็บของรัฐบาลที่ทำหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับโลหะวิทยา
.
งานของเขามุ่งเน้นไปที่โลหะหายากที่จำเป็นต่อแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค นั่นทำให้เขามีความเชี่ยวชาญและมองเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ในจีน
.
เมื่อมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เขาจึงย้ายจากปักกิ่งไปตั้งบริษัทของตัวเองอย่าง BYD ที่เซินเจิ้นในปี 1995 โดยจดทะเบียนว่าเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
.
ขณะที่ BYD นั้นย่อมาจากคำว่า “Build your dreams”
.
[ ถูกที่ถูกเวลา ]
.
การไปลงทุนตั้งบริษัทที่เซินเจิ้นนั้นเรียกได้ว่า BYD มาถูกทาง เนื่องจากก่อนหน้านั้นรัฐบาลจีนได้ทุ่มพัฒนาเซินเจิ้นให้พื้นที่พัฒนาพิเศษเพื่อทดลองกับระบบทุนนิยม ตอนเขาย้ายไปที่นั่น เมืองนี้มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว
.
ทั้งยังสร้างบริการ การผลิต และนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว จนเมืองนี้ถูกเรียกว่าเป็น Silicon Valley ของจีน เพราะเต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีมากมาย เช่น Huawei, Tencent และ DJI
.
เรียกได้ว่า BYD เติบโตมาในสสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างบริษัทเทคโนโลยีอย่างมาก โดยสินค้าในยุคแรกของเขาคือแบตเตอรี่ประเภท NiCd (นิกเกิล-แคดเมียม) แบบชาร์จไฟได้
.
แต่ถึงอย่างนั้น BYD นั้นก็ไม่ต่างบริษัทจีนหลายแห่งที่มักก็อปปี้โปรดักต์ของฝั่งตะวันตก ช่วงแรกบริษัทของเขาอาศัยวิธีวิเคราะห์ส่วนประกอบแบตเตอรี่ Sony กับ Sanyo แล้วก็ทำสิ่งที่คล้ายคลึงกันออกมา จนถูกฟ้องร้องในข้อหาขโมยทรัพย์สินทางปัญญา (แต่ศาลญี่ปุ่นปฏิเสธคำร้องในคดีของ Sony)
.
อย่างไรก็ตาม Wang Chuanfu ก็ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาด้วย ทำให้เขาทุ่มเม็ดเงินมหาศาลและเวลาไปกับสิ่งนี้ จนบริษัทสามารถพัฒนาโปรดักต์ออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งแบตเตอรี่แบบ NiMH หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ รวมถึงแบตเตอรี่ที่สำคัญอย่าง Li-ion ลิเธียมไอออนด้วย
.
ซึ่ง BYD ก็มีคู่ค้าระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Apple, Dell, Toshiba, Microsoft, Samsung, Motorola ฯลฯ จนในปี 2000 BYD กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จได้รายใหญ่ที่สุดของโลก และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2002
.
ก่อนจะก้าวเข้ามาสู่หมุดหมายสำคัญในปี 2003 ตอนนั้น Qinchuan Auto ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนกำลังเจอวิกฤต เนื่องจากยุคนนั้นรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ยังเป็นเรื่องแปลกใหม่
.
แต่ Wang มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจของ BYD ได้ ทำให้เขาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน Qinchuan Auto เพื่อจะพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จได้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนักลงทุนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งจนทำให้ราคาหุ้น BYD ลดลงทันที 1 ใน 5
.
BYD ทุ่มพัฒนารถยนต์หลายต่อหลายรุ่น ซึ่งยังคงเป็นรถยนต์สันดาปอยู่ โดยในปี 2006 ก็เปลี่ยนชื่อบริษัท Qinchuan Auto มาเป็น BYD Auto
.
เป้าหมายของ Wang คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะอาศัยความชำนาญในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มาพัฒนาต่อยอดเรื่องนี้ จนกระทั่งในปี 2008 บริษัทก็สามารถพัฒนารถรุ่น F3DM ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริดคันแรกของโลกได้สำเร็จ
.
ข่าวนั้นเป็นกระแสที่โด่งดังมากจนถึงขั้นที่ในปีนั้นเอง Berkshire Hathaway ของมหาเศรษฐีนักลงทุน ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ก็ทุ่มเงินมากถึง 232 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าซื้อหุ้น 10% ของ BYD
.
หลังจากนั้นในปีถัดมา BYD ก็เริ่มมีโปรดักต์สำคัญเป็นรถบัสไฟฟ้า ซึ่งผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากมณฑลหูหนาน หลังจากนั้นก็เริ่มส่งออกไปยังเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ
.
พร้อมๆ กับการค่อยๆ พัฒนาและขยายไลน์โปรดักต์ไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, รถบรรทุก และรถ Forklift หรือรถยก โดยระหว่างปี 2005-2015 BYD ส่งมอบรถบัสไฟฟ้าไปมากกว่า 50,000 คัน รถบรรทุกไฟฟ้ามากกว่า 12,000 คัน
.
รวมถึงขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งออกสินค้าไปขายหรือตั้งโชว์รูมเท่านั้น แต่ BYD ยังไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีฐานการผลิตนอกจีน 6 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น ฮังการี และอินเดีย
.
รวมถึงในไทยเอง BYD ก็มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเช่นกัน โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2024 และมีเป้าหมายส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังประเทศอาเซียนและยุโรป
.
อ่านเรื่องราวต่อได้ที่ https://workpointtoday.com/byd-story/